วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554

วุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้บริหาร

ลักษณะและบทบาทของผู้นำ
                ผู้นำ เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารหรือการจัดการ ผู้จัดการหรือผู้บริหารมีหน้าที่วางแผนและจัดระเบียบให้งานดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย แต่ผู้นำ มีหน้าที่ทำให้ผู้อื่นตาม และการที่คนอื่นตามผู้นำ ก็ไม่มีใครรับรองว่า ผู้นำจะนำไปในทิศทางที่ถูกต้องเสมอ ดังนั้น คนที่เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง ก็อาจจะไม่ใช่ผู้จัดการ หรือบริหารที่ดีได้ หรือผู้บริหาร-ผู้จัดการที่ดี ก็อาจไม่ใช่ผู้นำที่ดีก็ได้ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ องค์การหนึ่งองค์การใดที่ต้องการประสบความสำเร็จ ก็ย่อมต้องการผู้บริหาร หรือผู้จัดการที่มีลักษณะเป็นผู้นำดังนี้
                1. ต้องมีความฉลาด (Intelligence) ผู้นำจะต้องมีระดับความรู้และสติปัญญาโดยเฉลี่ยสูงกว่าบุคคลที่ให้เขาเป็นผู้นำ เพราะผู้นำจะต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ  บุคคลที่ฉลาดเท่านั้นที่จะสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ หรือเรื่องราวต่าง ๆ ได้
                2. ต้องมีวุฒิภาวะทางสังคมและใจกว้าง (Social Maturity & Achievement Drive) คือจะต้องมีความสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างกว้างขวาง มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ต้องยอมรับสภาพต่าง ๆ ไม่ว่าแพ้หรือชนะ ไม่ว่าผิดหวังหรือสำเร็จ ผู้นำจะต้องมีความอดทนต่อความคับข้องใจต่าง ๆ พยายามขจัดความรู้สึกต่อต้านสังคม หรือต่อต้านคนอื่นให้เหลือน้อยที่สุด เป็นคนมีเหตุผล เป็นคนเชื่อมั่นในตนเอง และนับถือตนเอง
                3. ต้องมีแรงจูงใจภายใน (Inner Motivation) ผู้นำจะต้องมีแรงขับที่จะทำอะไรให้เด่น ให้สำเร็จอยู่เรื่อย ๆ เมื่อทำสิ่งหนึ่งสำเร็จก็ต้องการที่จะทำสิ่งอื่นต่อไป เมื่อทำสิ่งใดสำเร็จก็จะกลายเป็นแรงจูงใจท้าทายให้ทำสิ่งอื่นให้สำเร็จต่อไป ผู้นำจะต้องมีความรับผิดชอบอย่างสูง เพราะความรับผิดชอบจะเป็นบันไดที่ทำให้เขามีโอกาสประสบความสำเร็จ
                4. ต้องมีเจตคติที่ดีเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์ (Human Relations Attitudes) ผู้นำที่ประสบความสำเร็จนั้น เขายอมรับอยู่เสมอว่า งานที่สำเร็จนั้นมีคนอื่นช่วยทำ ไม่ใช่เขาทำเอง ดังนั้น เขาจะต้องพัฒนาความเข้าใจและทักษะทางสังคมที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น ผู้นำจะต้องให้ความนับถือผู้อื่นและจำต้องระลึกอยู่เสมอว่า ความสำเร็จในการเป็นผู้นำนั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือกับผู้อื่น และการติดต่อกับบุคคลอื่นในฐานะที่เขาเป็นบุคคล ไม่ใช่ในฐานะที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเท่านั้น ผู้นำจะต้องยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น และมีความสนใจร่วมกับผู้อื่น
                จึงเป็นได้ว่า ผู้นำ ซึ่งหมายความถึงบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นมาหรือได้รับการยกย่องขึ้นให้เป็นหัวหน้าผู้ตัดสินใจ เพราะมีความสามารถการปกครองบังคับบัญชา และจะพาผู้ตามหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ไปในทางดีหรือชั่วได้ โดยใช้ระบบกระบวนการติดต่อซึ่งกันและกันในอันที่จะให้บรรลุเป้าหมาย และความสามารถที่จะชักจูงผู้อื่นให้ความร่วมมือร่วมใจกับตน ดำเนินการไปสู่จุดมุ่งหมายของตนได้ ดังนั้น การเป็นผู้นำจึงเป็นศิลปะของการที่จะมีอิทธิพลเหนือคน และนำคนแต่ละคนไปโดยที่คนเหล่านั้นมีความเชื่ออย่างเต็มใจ มีความมั่นใจในตัวผู้นำ มีความเคารพนับถือและให้ความร่วมมือกับผู้นำด้วยความจริงใจ เพื่อจะได้ปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงไปด้วยดี ภาวะผู้นำนั้น ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการบริหารงาน และเป็นจุดรวมพลังของทุกคนในองค์กร ฉะนั้น ผู้นำย่อมเป็นหลักที่มีความสำคัญยิ่งในการบริหารงาน ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และต่อผลงานอันเป็นส่วนรวม คุณภาพ และคุณลักษณะของผู้นำย่อมจะมีผลสะท้อนต่อวิธีปฏิบัติงานและผลงานขององค์การเป็นอย่างมาก
บทบาทของผู้นำในยุคที่ผ่าน ๆ มานั้น สังคมและธุรกิจถือว่าไม่มีบทบาทที่สำคัญ โดยถือว่าผู้นำเกิดขึ้นโดยกำเนิด หรือเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่ในสภาวะปัจจุบันนี้ ถือว่าผู้นำนั้นสามารถเรียนรู้ ฝึกอบรม และเสริมสร้างขึ้นมาได้ ทั้งนี้เพราะว่าผู้นำได้เป็นที่ยอมรับว่า มีบทบาทสำคัญต่อการบริหาร ลักษณะของผู้นำก็แตกต่างกันไปตามสถานการณ์ ซึ่งทำให้เกิดผู้นำในแบบต่าง ๆ แต่ลักษณะของผู้นำที่เป็นที่ยอมรับคือผู้นำในฐานะผู้นำทาง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำขององค์การ หรือผู้นำทางสังคม ก็หมายถึง คนที่สามารถชี้ให้คนอื่นดำเนินการไปในทางที่ถูกต้องได้
ในปัจจุบันเรามักจะมุ่งที่ตัวผู้นำที่สามารถชักจูงให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินงานไปพร้อม ๆ กันอย่างมีประสิทธิภาพ งานขององค์การจะก้าวหน้าอย่างไรอยู่ที่ตัวผู้นำเป็นสำคัญ ผู้นำจะต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากกว่าคนอื่น แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ สามารถทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาร่วมกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างสอดคล้องตามสถานการณ์ แต่สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนองค์การมีขนาดใหญ่และมีความสลับซับซ้อนในการบริหารงาน ตามสถานการณ์ที่ผู้นำต้องมีความสามารถหลายอย่าง ลักษณะการบริหารไม่ได้อยู่ที่ผู้นำคนเดียว แต่อยู่ที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ดังนั้น ผู้นำในทศวรรษหน้าจะต้องเป็นนักพัฒนา ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละคนสามารถทำงานได้เองทุกอย่าง ทั้งในงานที่ทำร่วมกัน และงานที่ทำเฉพาะตัว
ผู้นำในทศวรรษหน้า จะต้องพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีความสามารถที่จะทำงานได้เอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้นำองค์กรหรือหัวหน้างาน
ลักษณะของผู้นำในทศวรรษหน้า
1. เป็นผู้บริหารที่ไม่มากเกินไปในทางใดทางหนึ่ง คือ ไม่ใช่ผู้นำที่มุ่งแต่งานอย่างเดียว หรือมุ่งที่คนอย่างเดียว จะต้องอยู่ตรงกลางระหว่างความมากเกินไปและน้อยเกินไปในเรื่องของความรับผิดชอบงาน และการควบคุมงาน การบริหารในยุคหน้าคือการก้าวสู่สถานการณ์ที่คาดคะเนไม่ได้ การบริหารไม่ได้อาศัยคนใดคนหนึ่งตัดสินใจ แต่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องแก้ปัญหาเอง และแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกัน โดยต้องใช้คนที่มีลักษณะหลากหลาย เพราะทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน
2. ผู้บริหารเน้นการสร้างให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนมีความเป็นเลิศในทุกด้าน ไม่ใช่ผู้บริหารที่รับผิดชอบในความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์การ แต่ต้องรับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน การพัฒนาผู้ปฏิบัติงานให้มีความสามารถรอบด้าน ก็เพื่อให้คนเหล่านั้นมีส่วนร่วมในการบริหารงาน ให้ทุกคนมีส่วนร่วมกันในการใช้ความรู้ความสามารถ ที่มีต่อความความสำเร็จขององค์การเมื่อเกิดปัญหาในงานไม่ใช่รายงานไปยังผู้บริหารให้ตัดสินใจ แต่ทุกคนมีภาระร่วมกันในการใช้ความเป็นเลิศแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
3.  วิธีการแก้ปัญหาของผู้นำจะใช้ผู้ปฏิบัติงานแก้เอง  การบริหารในยุคที่ผู้นำแก้ปัญหาได้ทุกอย่างจะหมดไป กล่าวคือ  เมื่อได้รับรายงานจากผู้ปฏิบัติงานจะส่งปัญหากลับคืนไปยังผู้ปฏิบัติงานให้คิดเป็นทำเป็น ซึ่งเท่ากับเป็นการพัฒนาคนให้สามารถแก้ปัญหาได้
4.  ผู้นำจะมอบอำนาจ  จนพอที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถใช้อำนาจนั้นให้งานสำเร็จในตัว แต่ขณะเดียวกันก็กำหนดวิธีการควบคุมที่ได้ผล  การให้ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมรับผิดชอบร่วมกับผู้บริหารจำเป็นต้องให้อำนาจอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจ  แต่ผู้นำก็มีระบบควบคุมที่ทำให้ตรวจสอบได้ว่างานก้าวหน้าไปอย่างไร  โดยผู้ปฏิบัติงานมีอิสระในการตัดสินใจ  กล่าวคือผู้นำจะมีทั้งความยืดหยุ่นและเข้มงวดในการควบคุมงานไปพร้อม ๆ กัน
5.  ผู้นำเน้นคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานที่สามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างดี  ขณะเดียวกันความสามารถเฉพาะตัวก็สูงด้วย  การทำงานเป็นทีม  ทุกคนทำงานโดยมุ่งหมายความสำเร็จส่วนรวมขององค์การ โดยอาศัยความสามารถที่แตกต่างและหลากหลายของแต่ละคน  การสร้างทีมงานจะส่งเสริมพัฒนาคนให้มุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน บนรากฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกันโดยที่แต่ละคนต่างรู้ภารกิจของตน
ในสภาพการแข่งขันที่ดุเดือดของโลกธุรกิจ
องค์กรต้องพร้อมที่จะปรับตัวตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอดในบทบาทผู้นำจึงควรทำในสิ่งต่อไปนี้
1. ชี้แนะ ให้คำปรึกษา กำกับดูแล (Coaching) การทำงานก็เหมือนกับทีมฟุตบอล แม้ว่าในแต่ละตำแหน่งจะมีคนเล่นที่มีความสามารถฉกาจฉกรรจ์แค่ไหนก็ไม่พอ ต้องมีคนมองภาพรวมในการเล่นของทีมด้วย ว่าช่วงไหนควรรุก ช่วงไหนควรถอย จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์อย่างไร
2. เปลี่ยนทัศนคติลึก ๆ ในตัวคน การทำงานเป็นนั้น แต่ละคนต้องลดละอัตตาลงด้วย ต้องพร้อมที่จะปรับตัวเองให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ การวางกลยุทธ์เพื่อให้คนทำงานร่วมกัน ผู้บริหารต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ ใช้ระยะเวลาและความต่อเนื่องเพื่อไปสู่ทิศทางเดียวกัน
3.  ดึงศักยภาพที่มีอยู่ โดยไม่ต้องเอาความรู้ข้างนอกมามากนัก
4.  ทำให้สถานที่ทำงานเป็นที่รักของพนักงาน เด็ก 97% มีความเป็นอัจฉริยะในตัวเอง แต่ความเป็นอัจฉริยะของเด็กกลับลดลงไปเรื่อย ๆ เพราะกฎระเบียบทำให้ไม่สามารถแสดงออกมา แต่เชื่อว่ามันยังคงซ่อนอยู่
5.  Fullfill Basic Need ให้คนในองค์การ เช่น ให้ตำแหน่ง เพราะคนต้องการการยอมรับ ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มตำแหน่งตามสายบริหาร หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อยอมรับในความสามารถที่พนักงานมี และได้พัฒนาตัวเองขึ้นมา
6.  ดึงคนให้หลุดพ้นจากความเห็นแก่ตัว ทัศนคติต้องเปลี่ยน มีการแข่งขันในระบบ มี Innovative ใหม่ ๆ การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้องค์การเติบโตขึ้น พัฒนาขึ้น ความรู้จากภายนอกช่วยได้เพียง 30% อีก 70% ต้องเรียนรู้จากข้างใน จึงต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในองค์การ
สิ่งที่สะท้อนภาพองค์กรที่กำลังจะตายได้อย่างหนึ่ง คือองค์กรที่ยึดรูปแบบเต็มไปด้วยกฎระเบียบมากกว่าสาระ ในสถานการณ์ปัจจุบันการวางแผนเชิงกลยุทธ์เป็นปัจจัยหลักของการทำธุรกิจ ซึ่งจะบ่งชี้ถึงความสามารถของผู้บริหารได้ชัดเจนที่สุด การวางแผนงานให้บรรลุเป้าหมายควรต้องมีการทบทวนอย่างน้อยทุก 3 เดือน ไม่มากเกินไปจนคนในองค์การสับสน
การวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่ดีต้องสร้างสรรค์จากภายในองค์กรเอง ด้วยข้อมูล ทรัพยากรที่มีอยู่ ผู้บริหารควรศึกษาการวางแผนเชิงกลยุทธ์ขององค์การอื่นเพื่อเป็นแนวทาง แต่ไม่มีแผนเชิงกลยุทธ์ขององค์การใดที่เป็นเลิศจนเป็นแบบฉบับให้องค์การอื่นได้ ดังนั้น คนจึงเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการ
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผู้นำจะต้องทำให้เกิดขึ้นคือความสุขของคนในองค์การ
การดึงศักยภาพของคนออกมาให้ได้โดยสร้างวัฒนธรรมองค์การที่จะกำหนดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ดังนี้
1. วัฒนธรรมการเรียนรู้ ทำให้คนในองค์กรเป็นผู้รักการเรียนรู้ และที่สำคัญมากกว่า คือมีความเต็มใจที่จะถ่ายทอดความรู้ เพราะความเป็นจริงแล้ว ทุกคนมีความรู้และประสบการณ์ที่มีค่าอยู่กับตัว หลายองค์กรไปไม่รอด เพราะความรู้นั้นติดอยู่กับคน และไปพร้อมกับคน
2. การทำงานด้วยการครองสติ หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์
3. การเพ่งโทษ จับผิดที่ทำลายบรรยากาศของความเป็นทีม
4. มีความทะเยอทะยานไปสู่จุดมุ่งหมายที่ท้าทายขึ้นเรื่อย ๆ
5. ให้โอกาส และรู้จักมองส่วนดีของผู้อื่น
สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายสำหรับผู้นำยุคใหม่ จะเป็นได้ว่าน้ำหนักเกือบทั้งหมดอยู่ที่การบริหารคน การสร้างภาวะผู้นำในองค์การจึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญ และถ้าพิจารณาให้ดี หลักธรรมของพระพุทธองค์นั้น คือหลักการสำคัญที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข พร้อมที่จะรุกไปด้วยกัน

ที่มา  :  http://uhost.rmutp.ac.th/kanlayanee.so/L4/4-1-4.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น